ความหมายของโรคจิตเภท
โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นความผิดปกติของสมองอย่างหนึ่ง อาการที่สำคัญ คือ มีความผิดปกติในการคิด (Thinking) มีความผิดปกติในการรับรู้ มีอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมหรืออารมณ์ทื่อ การวินิจฉัยต้องอาศัยอาการเป็นหลัก และการวินิจฉัยต้องอาศัยอาการหลายๆ อาการที่เกิดขึ้นพร้อมกัน มากกว่าจะใช้อาการใดอาการหนึ่งเพียงอย่างเดียว (สุชาติ พหลภาคย์, 2546)
สาเหตุของโรคจิตเภท
ในการตั้งสมุฏฐานวิทยาของจิตเภท สุชาติ พหลภาคย์ (2547) อธิบายไว้ว่า โรคจิตเภทเป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่งที่มีชนิดย่อยๆ หลายชนิด ( heterogeneous) จึงไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของจิตเภท โดยทั่วไปการอธิบาย สมมุติฐานวิทยาของจิตเภทว่าเป็น “stress-diathesis model” กล่าวคือ บุคคลอาจจะมีความไวต่อการเจ็บป่วย ( vulnerability) ที่จำเพาะ ความไวต่อการเจ็บป่วยที่จำเพาะรวมเรียกว่า diathesis เมื่อมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นความเครียดบางอย่างมากระทบ จะทำให้อาการของจิตเภทก่อตัวจนแสดงอาการ diathesis และความเครียดอาจจะเป็นสาเหตุทางชีวภาพหรือทางสิ่งแวดล้อมหรือทั้งสองอย่าง สิ่งแวดล้อมก็ยังเป็นได้ทั้งทางชีวภาพ เช่น การติดเชื้อ หรือทางจิตวิทยา เช่นภาวะครอบครัวที่เครียด หรือญาติใกล้ชิดถึงแก่กรรม รากฐานทางชีวภาพของ diathesis อาจจะถูกดัดแปลงโดยอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางอัตตา ( ego) และการพัฒนาทางสังคม เช่น การใช้ยาในการทำร้ายร่างกายและจิตใจ (abuse) ความเครียดทางจิตสังคมและอุบัติเหตุ ในขณะนี้เราเชื่อว่า stress-diathesis model เป็นตัวแบบที่ดีที่สุดในการนำสาเหตุต่างๆ ที่ค้นพบมาอธิบายเชิงสมมุติฐานวิทยาของจิตเภท
สาเหตุต่างๆ ของจิตเภท มักแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ สาเหตุทางชีวภาพ สาเหตุทางพันธุกรรม และสาเหตุทางจิตสังคม ดังต่อไปนี้ คือ
1. สาเหตุทางชีวภาพ
1.1 สมมติฐาน dopamine ผู้ป่วยจิตเภทมี dopaminergic system ของสมองทำงานมากเกินไป (hyperactivity)
1.2 สารถ่ายทอดประสาทอื่นๆ ที่อาจผิดปกติจนเป็นสรีรพยาธิวิทยาของจิตเภทนอกเหนือจาก dopamine ได้แก่
1.2.1 Norepinephrine อาจจะทำงานมากเกินในผู้ป่วยจิตเภท นอกจากนี้ยา amphetamine ซึ่งสาเหตุทำให้เกิดอาการคล้ายจิตเภทชนิดระแวงก็ออกฤทธิ์ทั้งต่อ neuron ชนิด dopamine และชนิด noradrenaline
1.2.2 Gamma-aminobutyric acid ( GABA) เป็นตัวยับยั้งการถ่ายทอดประสาท ถ้า GABA ทำงานน้อยลง dopamine จะทำงานมากเกิน
1.3 ประสาทพยาธิวิทยา ( Neuropathology) มีอยู่ 2 ชนิดคือ
1.3.1 การศึกษาทางประสาทเคมี ( neurochemistry) ผลการศึกษาพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของจำนวน D2 receptor ใน basal ganglia และ hippocampus ในสมองคนไข้จิตเภทที่เสียชีวิตแล้ว
1.3.2 การศึกษาทาง morphometry ของสมองของคนไข้หลังเสียชีวิตแล้ว พบว่ามีการเสื่อม degeneration แบบหนึ่งเกิดขึ้นที่ limbic system และ basal ganglia ลักษณะของการเสื่อมที่พบคือมี gliosis จำนวน neuron ลดลงและปริมาตรของเนื้อสมองบริเวณนั้นๆ ลดลง
1.4 Brian imaging การศึกษาด้านประสาทพยาธิวิทยาในต้นศตวรรษที่ 19 จะไม่พบความผิดปกติของสมองในผู้ป่วย Schizophrenia ทำให้ Schizophrenia ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม functional disorders แต่การศึกษาอย่างกว้างขวางในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาทำให้พบความผิดปกติหลายแห่งในสมองของผู้ป่วย เช่น การกว้างขึ้นของ lateral ventricle, การมีปริมาณลดลงของ amygdale และ hippocampus, การมีปริมาณเพิ่มขึ้นของ basal-ganglia nuclei, การทำงานลดลงบริเวณ frontal lobes
1.5 สรีรวิทยาไฟฟ้า ( Electrophysiology) การศึกษาคลื่นไฟฟ้าสมองของผู้ป่วยจิตเภท จำนวนหนึ่งมีความผิดปกติ กล่าวคือ สมองมีสภาพไวต่อการถูกกระตุ้น เช่น ถ้าหากกระตุ้นด้วยการให้อดนอนแล้วบันทึกคลื่นไฟฟ้าของสมองจะพบคลื่นไฟฟ้าชนิด spike เพิ่มขึ้น ความผิดปกติชนิดอื่นๆ ที่พบคือ คลื่นไฟฟ้าชนิด alpha ลดลง ส่วน theta และ delta เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ คลื่นไฟฟ้าของสมองอาจจะคล้ายของโรคลมบ้าหมูหรืออาจจะพบความผิดปกติดังที่กล่าวมาอยู่ที่สมองซีกซ้ายซีกเดียวก็ได้
1.6 การติดเชื้อ เช่น ภาวะฤดูกาลขณะคลอดมักจะมีการติดเชื้อไวรัส และผู้ป่วยจิตเภทผู้ใหญ่มักจะพบเป็นกลุ่ม (cluster) ตามสภาพภูมิศาสตร์ ฤดูที่ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลก็มักเป็นช่วงที่มีการติดเชื้อไวรัส ขณะป่วยจะพบ atypical lymphocyte อย่างไรก็ตามจนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดกว่านี้ที่แสดงว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้น เช่น ไม่สามารถถ่ายทอดการติดเชื้อในสัตว์ทดลอง ไม่พบ infectious particle เป็นต้น หลักฐานเท่าที่มีอยู่ทำให้เกิดการแปลผลไปต่างๆ นานา เช่น infectious agent ทำให้เกิดทั้งอาการทางจิตเวชและภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือ infectious agent ทำให้เกิด autoimmune ต่อสมองส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือจิตเภทเป็น primary immune disorder ที่ทำให้เกิด autoimmune disorder ต่อสมอง
1.7 Psychoendocrinology มีการค้นพบว่าผู้ป่วยจิตเภทมีความผิดปกติของ endocrine dysregulation ที่เกี่ยวข้องกับทางจิตเวช เช่น พบว่าผู้ป่วยจิตเภทมีระดับ luteinizing hormone (LH) และระดับ follicle stimulating hormone (FSH) ในขณะ baseline ลดลง ในช่วงที่เริ่มป่วย และขณะที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท
2. สาเหตุทางพันธุศาสตร์
สมมติฐานทางพันธุศาสตร์ของผู้ป่วยจิตเภทมีความไวที่จะเป็นจิตเภท สิ่งแวดล้อมทั้งทางจิตวิทยาและทางชีวภาพจะทำหน้าที่เป็นความเครียดที่กระตุ้นการ Expression ของยีนส์จนทำให้เกิดอาการของโรคจิตเภท ขณะนี้ได้มีการค้นพบ marker ที่อยู่บนโครโมโซมที่ 5 ว่าน่าจะเชื่อมโยงกับจิตเภทแต่ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างกว้างขวาง
ข้อมูลทางพันธุศาสตร์ที่พบคือ ความชุกของจิตเภทในประชากรคือร้อยละ 1 Monozygotic twin concordance rate ของจิตเภทสูงที่สุดคือ ร้อยละ 47 บุตรที่ทั้งบิดาและมารดาเป็นจิตเภทจะมีความชุก ร้อยละ 40 ฝาแฝด dizygotic twin ของผู้ป่วยจิตเภทมีความชุกร้อยละ 12 บุตรที่บิดามารดาคนใดคนหนึ่งเป็นจิตเภทมีความชุกร้อยละ 12 เช่นเดียวกัน พี่น้องของจิตเภทแต่ไม่ใช่ฝาแฝดกันมีความชุกร้อยละ 8
ได้มีการศึกษาจนพบว่าฝาแฝดไข่ใบเดียวกันที่คนหนึ่งถูกแยกให้เลี้ยงโดยบิดามารดาบุญธรรมก็มีอัตราการเป็นจิตเภทเท่ากับฝาแฝดที่ถูกเลี้ยงโดยบิดามารดาที่แท้จริง เช่นนี้ แสดงว่าพันธุกรรมมีอิทธิพลมากกว่าสิ่งแวดล้อม
3. สาเหตุทางจิตสังคม
3.1 ทฤษฎีทางด้านจิตวิเคราะห์ กล่าวถึงความบกพร่องทางจิตที่สำคัญจนทำให้เป็นจิตเภทคือการจัดระเบียบของอัตตา ( ego organization) ผิดปกติอย่างมากจนกระทบกระเทือนต่อการตีความ (interpret) เกี่ยวกับความเป็นจริง ( reality) และกระทบกระเทือนต่อการควบคุมแรงขับ (drive) เช่น sexual drive และ aggressive drive เพราะในวัยเด็ก ผู้ป่วยจิตเภทมีความสัมพันธ์ที่ไม่สนิทดีกับมารดา หรือทารกบางคนในขณะนั้นมีความกังวลเพราะมีมารดาที่วิตกกังวลเหมือนกัน ทั้งความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับมารดา คือเด็กไม่สามารถพัฒนาตนเองให้พ้นระยะ oral phase ที่เป็นระยะการพึ่งพิงและสนิทกับมารดา ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับมารดาทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเกลียดชัง ต่อต้านและก้าวร้าว จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารกบิดเบี้ยว ทำให้การพัฒนารูปแบบบุคลิกภาพไม่เหมาะสม และไวต่อความเครียด
3.2 Learning theory อธิบายว่าในขณะที่ยังเด็กอยู่ ผู้ป่วยได้การคิดอย่างไม่มีเหตุผลโดยเลียนแบบมาจากบิดามารดา ซึ่งอาจจะมีปัญหาทางจิตใจอยู่ด้วย และมีความบกพร่องในทักษะทางสังคม เนื่องจากไม่สามารถเรียนรู้ได้ดีพอ เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างบุคคล
3.3 ทฤษฎีทางด้านครอบครัว อธิบายด้วยเหตุผล 4 ข้อคือ
3.3.1 มารดาที่เป็นสาเหตุของโรคจิตเภท (Schizophrenic mother) จะมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ เข้าไม่ถึงจิตใจของบุตร ( emotional withholding) ครอบงำบุตร ( domineering) และมีทัศนคติไม่ยอมรับบุตร ทำให้เมื่อโตขึ้นมีความขัดแย้งทางใจเกี่ยวกับการไว้วางใจผู้อื่น จะโกรธผู้อื่น มารดายังอาจจะมีลักษณะว่าปกป้องบุตรจนเกินไปหรือปฏิเสธบุตรอย่างชัดเจน ทฤษฎีนี้เน้นการกล่าวโทษมารดาเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่มองบริบทอื่นๆ จึงไม่ได้รับความเชื่อถือในปัจจุบัน
3.3.2 การสื่อสารภายในครอบครัวเป็นแบบ double bind communication เป็นการสื่อสารชนิดที่บังคับบุตรให้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือก 2 ทาง ทางเลือกในแต่ละทางมีความขัดแย้งในตัวมันเองก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดทนไม่ได้พอๆ กัน และไม่ว่าจะเลือกทางใดก็ผิด แต่ต้องเลือกและไม่ให้โอกาสวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ บิดามารดามักจะพูดแบบคลุมเครือ ไม่เที่ยวตรง ( imprecise)
3.3.3 บิดามารดาอยู่ด้วยกันแบบ marital schism กล่าวคือ บิดามารดาอยู่ด้วยกันเพราะต้องพึ่งพิงกัน แต่เป็นการพึ่งพิงกันอย่างมีพยาธิสภาพ คือมีความขัดแย้งกันอย่างชัดเจน ขาดความไว้วางใจและขาดการสื่อสารกัน หรือครอบครัวมีลักษณะเป็นแบบ skewed family คือบิดามารดาฝ่ายหนึ่งจะสนิทสนมกับบุตรเพศตรงกันข้ามอย่างมากผิดปกติ
3.3.4 บิดามารดาอยู่ด้วยกันแบบ Marital skew คือบิดามารดาสัมพันธ์กันอย่างมีความเบ้ไปสู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซ่อนความไม่ลงรอยกันอย่างเรื้อรัง แต่กลับแสดงภาพที่ประสานกัน ( harmony) ให้เห็น มีบิดาหรือมารดาคนหนึ่งเป็น dominant ส่วนบิดาหรือมารดาอีกฝ่ายหนึ่งยอมเจ็บปวด ( masochistic)
ผู้ป่วยเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน อาการจิตเภทอาจจะกำเริบกลับ (relapse) ได้เร็ว ถ้าประสบกับภาวะที่มีการแสดงทางอารมณ์ ( expressed emotion หรือ EE) ภาวะนี้หมายความว่าภายในครอบครัวของผู้ป่วยจิตเภทมีการสื่อสารชนิดตำหนิติเตียน ( criticism) มีการเกลียดชังเป็นปรปักษ์ ( hostility) มีการเข้าไปเกี่ยวข้องกันมากเกินไป ( over involvement)
3.4 ทฤษฎีทางสังคม นักทฤษฎีบางท่านได้เสนอแนะไว้ว่า การทำให้เป็นอุตสาหกรรม และการทำให้เป็นเมือง เป็นความเครียดถึงขั้นเป็นสมุฏวิทยาและมีผลต่อการดำเนินโรคของจิตเภท
อาการของโรคจิตเภท
โรคจิตเภท T.J. Crow (1980) ได้แบ่งความผิดปกติเป็น 2 กลุ่มอาการหลัก คืออาการทางบวก (positive symptoms) และอาการลบ (negative symptoms) ( สมพร บุษราทิจ , ศิริรัตน์ คุปติวุฒิ , 2540:7-9)
1. กลุ่มอาการด้านบวก (Positive symptoms) ได้แก่
- อาการประสาทหลอน (hallucinations)
- อาการหลงผิด (delusions)
- ความคิดผิดปกติ (thought disorders)
- พฤติกรรมผิดปกติ (behavioral disorganization)
- ประโยคคำพูดฟังไม่รู้เรื่อง ใช้ศัพท์แปลกๆ ( Disorganized Speech)
- นิ่งไม่เคลื่อนไหว อยู่ในท่าทางแปลกๆ หรือเอะอะโวยวาย ( Catatonia)
2. กลุ่มอาการด้านลบ (Negative symptoms) เป็นอาการที่แสดงถึงการไม่ทำหน้าที่ หรือทำหน้าที่ลดลง ซึ่งหน้าที่นี้ได้เคยมีอยู่ในระยะก่อนเกิดโรค อาการในกลุ่มนี้ ได้แก่
- สีหน้าอารมณ์เฉยเมย (blunting of affect)
- ชีวิตไม่มีจุดหมาย หมดความกระตือรือร้นในชีวิต (avolition)
- ไม่มีสัมพันธภาพกับใคร (lack of socialization)
- ไม่พูดหรือพูดน้อย (alogia)
- ไม่ยินดียินร้าย (anhedonia)
- บกพร่องทางเชาวน์ความคิด ( cognitive deficit)
ชนิดของโรคจิตเภท
1. Paranoid Schizophrenia (F 20.0)
จิตเภทชนิดหวาดระแวง เป็นจิตเภทที่พบได้มากที่สุดในเกือบทุกส่วนของโลก อาการทางคลินิกที่เด่นๆ ก็คือ อาการหลงผิด ซึ่งมักเป็นชนิดหวาดระแวงอย่างคงที่ โดยปกติจะมีอาการประสาทหลอนร่วมด้วย โดยเฉพาะอาการหูแว่ว และพบความแปรปรวนของการรับรู้ สำหรับความคิดผิดปกติทางอารมณ์ ความตั้งใจ (Volition) คำพูดและอาการ การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ( Catatonia ) ไม่ใช่อาการสำคัญ
2. Hebephrenic Schizophrenia (F 20.1)
เป็นโรคจิตเภทชนิดหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เป็นอาการเด่น อาการหลงผิดและประสาทหลอนจะเป็นช่วงสั้นๆ และมีลักษณะแตกกระจาย พฤติกรรมคาดการณ์ไม่ได้และขาดความรับผิดชอบ และพบ mannerisms (อาการทำท่าทางซ้ำๆ) ได้บ่อย อารมณ์มีลักษณะตื้นๆ (Shallow) และแสดงอารมณ์ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยหัวเราะคิกคักหรือยิ้มให้กับตนเอง หรือท่าทางหยิ่งทำหน้าตาบูดเบี้ยว mannerisms ทำตลก บ่นว่าตนเองมีโรคใดโรคหนึ่งอยู่และพูดวลีซ้ำๆ สำหรับความคิดของผู้ป่วยมีลักษณะไม่เป็นระบบ (disorganized) และพูดจาไม่ต่อเนื่องทำให้ฟังไม่รู้เรื่อง ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะแยกตัวตามลำพังและพฤติกรรมดูเหมือนจะไร้จุดหมายและความรู้สึกจิตเภทชนิดนี้เริ่มแสดงอาการครั้งแรกระหว่างอายุ 15-25 ปี การพยากรณ์โรคไม่ดีเพราะอาการ negative symptoms เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอาการไม่แสดงอารมณ์และความตั้งใจ นอกจากนี้พบว่าความแปรปรวนทางอารมณ์และความตั้งใจ และความผิดปกติของความคิดเป็นอาการเด่น อาจพบอาการประสาทหลอนและหลงผิดแต่ไม่ใช่อาการเด่น แรงขับของจิตใจและความคิดตกลงใจแน่วแน่จะหายไปและไม่มีเป้าหมาย ดังนั้นพฤติกรรมของผู้ป่วยจึงดูไร้จุดหมายและไม่มีวัตถุประสงค์ ผู้ป่วยมีแนวคิดตื้นๆ เกี่ยวกับศาสนา ปรัชญา และแนวคิดนามธรรมอื่นๆ ทำให้ผู้ฟังติดตามเรื่องราวได้ลำบาก
3. Catatonic schizophrenia (F 20.2)
อาการเด่น คือ การเคลื่อนไหวของร่างกายและจิตใจ (Psychomotor) ผิดปกติ อาจมีการเคลื่อนไหวมาก (hyperkinesias) สลับกับอาการซึมเคลื่อนไหวน้อย (Stupor) หรืออาการเคลื่อนไหวตามคำบอก (automatic obedience) สลับกับอาการดื้อไม่ทำตาม (negativism) อาการเด่นของกลุ่มนี้ได้แก่
3.1 ไม่เคลื่อนไหวทางกาย
3.2 มีการเคลื่อนไหวทางกายมาก และอย่างไม่มีจุดมุ่งหมายและไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งเร้าภายนอกร่างกาย
3.3 Negativism อย่างรุนแรง
3.4 เคลื่อนไหวแบบประหลาดพิกล เช่น อยู่ในท่าประหลาดไม่เหมาะสม
3.5 Echolalia หรือ Echopaxia
4. Undifferentiated schizophrenia (F20.3)
เป็นสภาวะเข้าได้กับเกณฑ์ทั่วไป สำหรับการวินิจฉัยโรคจิตเภท แต่อาการไม่เข้ากับจิตเภทชนิดย่อยในรหัส F20.0 – F 20.2 หรือมีอาการของชนิดย่อยเหล่านั้นมากกว่า 1 อย่าง แต่อาการไม่เด่นพอที่จะวินิจฉัยเป็นชนิดย่อยชนิดใดชนิดหนึ่ง
5. Post-schizophrenic depression (F 20.4)
เป็นสภาวะซึมเศร้าซึ่งอาจจะเป็นนาน และเกิดตามหลังโรคจิตเภท อาการของโรคจิตเภทบางอย่างต้องคงอยู่แต่ไม่เด่น อาการเหล่านี้อาจเป็นแบบ positive หรือ negative ก็ได้แต่แบบหลังพบได้มากกว่า
6. Residual schizophrenia (F 20.5)
เป็นโรคจิตเภทที่มีลักษณะเรื้อรัง มีการดำเนินโรคตั้งแต่ระยะต้น (คือ มีอาการของโรคจิตเภทตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไป) ถึงระยะท้ายอย่างชัดเจน ลักษณะของโรคจิตเภทชนิดนี้ คือ มีอาการ negative symptoms อย่างยาวนาน 7. Simple schizophrenia
เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย อาการค่อยเป็นค่อยไปแต่ดำเนินไปเรื่อยๆ ผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมที่แปลกประหลาด ไม่สามารถทำตามสิ่งที่สังคมต้องการและความสามารถทั้งหมดเสื่อมลงไป อาการหลงผิดและประสาทหลอนไม่ชัดเจน อาการโรคจิตไม่ชัดเจนเหมือนจิตเภทชนิดอื่น จะเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีอาการโรคจิตที่ชัดเจนนำมาก่อน ความบกพร่องของสังคมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะตามมาด้วยอาการเร่ร่อน ผู้ป่วยสนใจแต่เรื่องราวของตนเอง เกียจคร้านและไร้จุดหมาย
การรักษาโรคจิตเภท
การรักษาโรคจิตเภทประกอบด้วย (สุชาติ พหลภาคย์, 2546, 2547)
1. การรับไว้รักษาภายในโรงพยาบาล ผู้ป่วยจิตเภทที่ต้องให้การรักษาภายในโรงพยาบาลจะมีลักษณะต่อไปนี้คือ มีปัญหาในการวินิจฉัย ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนพฤติกรรมเสียระบบ ( disorganized) และไม่เหมาะสมจนไม่สามารถจัดหาความต้องการพื้นฐานให้ตนเอง ผู้ป่วยอาจจะฆ่าตัวตายหรือทำร้ายผู้อื่น
2. การรักษาทางกาย ( somatic treatment)
การใช้ยา antipsychotic ทำให้อาการโรคจิตดีขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้จิตเภทหาย ผู้ป่วยต้องรับการรักษานาน โดยมีหลักการคือ รักษาอาการเฉียบพลัน และให้ยาระยะยาวเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
การรักษาด้วยการทำให้ชักด้วยไฟฟ้า ( ECT) วิธีนี้ได้ผลสู้ยาต้านโรคจิตไม่ได้ แต่จะใช้ได้ผลดีมากสำหรับจิตเภทชนิด catatonia และผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาต้านโรคจิต
การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น จิตศัลยกรรม ( psychosurgery) โดยเฉพาะ frontal lobotomy ปัจจุบันไม่ใช้วิธีนี้ในการรักษาจิตเภทแล้ว
3. การรักษาทางจิตสังคม แม้ว่ายาต้านโรคจิตจะเป็นหลักในการรักษาจิตเภท แต่การรักษาทางจิตสังคมจะช่วยเพิ่มพูน ทำให้อาการทางจิตดีขึ้น การรักษาจึงควรจะกระทำควบคู่กันไปทั้งการรักษาด้วยยา และการรักษาทางจิตสังคม
จิตบำบัด โดยใช้แนวคิดทฤษฎีต่างๆมาใช้ในการบำบัด เช่น พฤติกรรมบำบัด ( Behavioral therapy)
กลุ่มบำบัด ( Group Therapy)
ครอบครัวบำบัด เพื่อให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วย
เป้าหมายของการรักษามี 3 ประการคือ
1. รักษาอาการให้หายหรือบรรเทาลง (symptoms reduction) เช่น การรักษาด้วยยา การช็อกด้วยไฟฟ้า
2. ป้องกันไม่ให้กลับป่วยซ้ำอีก (prevention of relapse) เช่น การทำจิตบำบัดแบบบุคคลหรือกลุ่ม
3. การฟื้นฟูสมรรถภาพ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น (rehabilitation) เช่น เกษตรกรรมบำบัด อาชีวบำบัด จัดโปรแกรมให้ความรู้ การให้คำปรึกษา จิตบำบัดแบบประคับประคอง
การรักษาผู้ป่วยจิตเภท ควรให้การรักษาอย่างเต็มที่ตั้งแต่ครั้งแรกจะเป็นผลดีที่สุด กล่าวคือ ร้อยละ 90 จะหายจากอาการเจ็บป่วย ถ้าทิ้งไว้นานอาการกำเริบครั้งต่อมาจะรักษาไม่ได้ผลดีเท่ากับการรักษาครั้งแรก และยิ่งเป็นมากครั้งต้องใช้เวลารักษานานขึ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยจิตเภทที่เกิดอาการกำเริบบ่อยครั้ง การทำงานของสมองจะเสื่อมถอยลง โดยพบว่าเนื้อสมองสีเทา (Gray matter) จะมีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีความยากลำบากในการคิด การตัดสินใจอย่างมาก ( สมพร บุษราทิจ และธีรศักดิ์ สาตรา , 2546) ซึ่งส่งผลต่อการบำบัดทางจิตสังคม
แนวคิดเรื่อง Clinical Practice Guideline (CPG) (อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล, 2546)
CPG คือข้อมูลวิชาการเพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้ประกอบวิชาชีพ CPG ที่ดีมีรูปแบบการจัดทำและนำเสนอที่ชัดเจน เช่น การระบุสภาพปัญหาทางคลินิกที่จะนำไปใช้ การทบทวนความรู้วิชาการ ข้อเสนอแนะในการดูแลผู้ป่วย พร้อมทั้งความหนักแน่นของข้อเสนอแนะแต่ละข้อ
CPG ที่มีการทำในโรงพยาบาลทั่วๆ ไป เป็นการนำ CPG หรือข้อมูลวิชาการที่มีอยู่ แล้วมาทบทวนว่าจะปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รูปแบบง่ายๆอาจจะอยู่ในลักษณะของนโยบายทางคลินิก Flow chart หรือแปลงให้ไปอยู่ในรูปของการนำไปวางแผนการดูแลผู้ป่วยคือ Care Map
Gap Analysis เป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมให้มีการนำข้อมูลวิชาการไปใช้ได้ง่ายขึ้น เริ่มด้วยการพิจารณาว่าสิ่งที่ปฏิบัติอยู่กับสิ่งที่เป็นข้อเสนอแนะใน CPG หรือข้อมูลทางวิชาการมีความแตกต่างกันตรงไหน อย่างไร ถ้าจะปรับปรุงโดยมีความเป็นไปได้มากที่สุดเพื่อลดความแตกต่างกัน จะทำได้แค่ไหน อย่างไร
Gap Analysis ทำให้เราปรับปรุงคุณภาพได้มากขึ้น ทำให้เราใช้เวลาส่วนใหญ่มาคิดว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ทีมที่ทำ CPG ไว้แล้ว ก็นำ Gap Analysis มาใช้เพื่อทบทวนว่าสิ่งที่กำหนดไว้นั้นมีตรงไหนที่ยังทำไม่ได้ ถ้าจะทำให้ได้จะต้องทำอย่างไร ทีมที่ยังไม่ได้ทำ CPG หรือมีเรื่องที่อยากจะปรับปรุงแต่ยังไม่สามารถทำ CPG ได้ ก็สามารถใช้ Gap Analysis มาทบทวนโดยอาศัยข้อมูลวิชาการที่คนอื่นทำไว้มาพิจารณา เป็นการเดินทางลัด และไม่ต้องเสียเวลาถกเถียงว่าจะเขียน CPG อย่างไร
Care Map คือเครื่องมือในการวางแผนการดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรคเฉพาะราย Care Map เป็นชื่อการค้า ชื่อทั่วไปคือ Clinical pathway Care Map จะระบุผลลัพธ์ที่คาดหวัง intervention ที่จะให้แก่ผู้ป่วยในช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบสิ้นการดูแลผู้ป่วยในครั้งนั้น ช่วงระยะเวลาที่กล่าวถึงอาจจะเป็นชั่วโมง วัน หรือสัปดาห์ แล้วแต่ acuteness ของผู้ป่วย Care Map อาจจะใช้เป็นเพียงสิ่งเตือนใจ หรืออาจจะใช้เพื่อการบันทึกร่วมด้วยก็ได้
เหตุผลสำคัญที่พูดถึงเรื่องนี้คือการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมบนพื้นฐานของวิชาการ เป็นสิ่งที่จะทำให้เราอธิบายแก่สังคมได้ว่าเรามีความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพ
ความรู้ทางวิชาการมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยิ่งเปลี่ยนแปลงเร็วเท่าไร เรายิ่งจำเป็นต้องติดตามและนำมาสู่การปฏิบัติกิจกรรมที่เราคุ้นเคยคือการทำ Journal club เพียงขยับต่อมาอีกนิดเดียวจะกลายเป็น gap analysis และเกิดการเปลี่ยนแปลงในการดูแลผู้ป่วย
ควรเริ่มต้นด้วยการพิจารณาว่ามีโรคหรือสภาวะอะไรบ้างที่เราเห็นว่ามีโอกาสปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ เช่น โรคที่มีภาวะไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นบ่อย หรือผลการรักษาไม่ดี หรือมีค่าใช้จ่ายสูง
ใช้ gap analysis เพื่อดูว่าจะปรับปรุงตรงไหน อย่างไร การปรับปรุงอาจจะเป็นเรื่องของการจัดระบบบริการใหม่ การส่งต่อ การมีแบบบันทึกที่เป็น check list หรือ flow chart หรืออาจจะเป็น Care Map แล้วแต่ความเหมาะสมในแต่ละกรณี เมื่อใช้กันไปแล้วระยะหนึ่ง อาจจะมีการปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นไปได้มากขึ้น เมื่อเหมาะสมแล้วหาเวลาว่างๆ มาเขียนสรุปสิ่งที่ปฏิบัติกันอยู่ ก็จะเป็น CPG ที่เราปฏิบัติอยู่จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น