วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

การฆาตกรรมเด็ก(Neonaticide,Infanticide and Child Homicide)

การฆาตกรรมเด็กมักเกิดในช่วง 2 ปีแรกหลังคลอด การปล่อยปละละเลยไม่ดูแลจนเด็กเกิดอันตรายถือเป็นเจตนาทำร้ายเด็กด้วย สถิติในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ในคนผิวดำ เด็กอายุน้อยกว่า1ขวบถูกพ่อแม่ฆ่าตาย 13.5ต่อ100,000 อายุ1-4ขวบถูกฆ่าตาย6.4/100,000 ส่วนในคนผิวขาว เด็กอายุต่ำกว่า1ขวบถูกฆ่า 3.6/100,000 อายุ 1-4 ขวบจำนวน 1.5/100,000 ตามลำดับ ในประเทศไทยยังไม่มีสถิติที่แน่นอน แต่อาจสังเกตแนวโน้มได้จากการที่มารดาทิ้งลูกที่คลอดใหม่ในโรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งไปยังสถานสงเคราะห์แปดแห่งทั่วประเทศมีจำนวนถึง1,523คน (ปี พ.ศ.2541)
การฆ่าทารกแรกคลอดอายุไม่ถึง24ชม.(Neoticide) ผู้กระทำมักเป็นแม่ของทารกเอง บางครั้งอาจมีคนช่วยทำด้วย ส่วนมากแม่มักมีอายุน้อย ไม่ได้แต่งงาน ไม่มีการศึกษา บางคนอ้างว่าไม่ทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ ด้วยซ้ำไป เพราะการกระทำนี้มักเป็นการกระทำเพื่อปกปิดการตั้งครรภ์ ศพเด็กพวกนี้มักพบตามท่อระบายน้ำ กองขยะ หรือส้วมสาธารณะ สิ่งที่ต้องพิสูจน์คือเด็กคลอดมีชีวิตหรือไม่ การลอยปอดในน้ำช่วยในการพิสูจน์เป็นอย่างดี แต่ควรจะตรวจชิ้นเนื้อทางกล้องจุลทรรศน์ด้วยเพื่อดูว่ามีการขยายตัวของถุงลมด้วยหรือไม่ เพื่อประกอบกัน ต้องคำนึงเสมอว่าเด็กในครรภ์มีการหายใจตลอดเวลาแต่หายใจเอาน้ำเข้าปอด หรือพอคลอดเสร็จ พ่อหรือแม่รีบอุดปากอุดจมูกเด็กจนตาย ปอดก็อาจจะไม่ลอยน้ำ การเน่าปอดจะลอยน้ำทุกอัน ทำให้การตรวจโดยวิธีนี้ใช้ไม่ได้ เมื่อพิสูจน์ได้ว่าคลอดมีชีวิตแล้วก็ต้องหาสาเหตุการตาย ส่วนมากการอุดปากอุดจมูก มักไม่ปรากฏบาดแผล และในเด็กแรกคลอดการปล่อยทิ้งไว้เฉยๆก็ตายได้โดยไม่ต้องทำอะไร อย่างไรก็ตามผู้เขียนเคยพบศพเด็กแรกคลอดถูกมีดแทงเข้าช่องท้องทางชายโครงซ้าย2แผล ทำให้ถึงแก่ความตาย
การฆ่าทารกอายุต่ำกว่า1ขวบและเด็กอายุมากว่า1ขวบ(Death before and after first year of life) การฆ่าเด็กในขวบปีแรกพบมาก จากการฆ่าด้วยวิธีต่างๆ ส่วนมากเป็นการทำร้ายโดยใช้ของแข็งไม่มีคม จากสถิติของDiMaio ศพเด็กที่ตายจากของแข็งไม่มีคมใน 5 ปีที่นิวยอร์คมี 184ราย 10%ไม่มีบาดแผลภายนอก 64.1%ตายจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ 23.4%ตายจากการบาดเจ็บของอวัยวะในช่องท้อง 4.4%ตายจากการบาดเจ็บของศีรษะร่วมกับท้อง 2.2%ตายจากการบาดเจ็บของศีรษะ ช่องอกและช่องท้องรวมกัน ศพที่ตายจากการบาดเจ็บของศีรษะส่วนใหญ่เกิดจาก เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกกับกะโหลกแตก ส่วนที่ตายจากลำตัวเกิดจากการฉีกขาดของอวัยวะในช่องท้อง กลุ่มอาการของเด็กที่ถูกทำร้าย(Battered Baby Syndrome) ลักษณะบาดแผลของเด็กในกลุ่มนี้มักมีบาดแผลช้ำตามตัวเป็นจำนวนมากทั้งเก่าและใหม่ อาจพบกระดูกหัก หรืออวัยวะภายในฉีกขาด เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง และแผลถูกความร้อน เด็กมักถูกพามาโรงพยาบาลช้า สิ่งที่พ่อแม่มักแจ้งแก่แพทย์คือ เด็กตกจากโต๊ะ เก้าอี้ฯลฯ ในรายที่ถูกน้ำร้อนก็มักบอกว่าเด็กดึงกาน้ำร้อน เอามือ จุ่มน้ำร้อนฯลฯ ถ้าเด็กขาดอาหารก็มักอ้างว่าเด็กไม่ยอมกินอาหาร ที่มีผื่นตามตัวก็จะแจ้งว่าเด็กแพ้ฝุ่นละอองง่าย หรือเป็นโรคภูมิแพ้ ในการผ่าศพจะพบว่าเด็กมีช้ำในเนื้อเยื่อของร่างกายหลายแห่งโดยเฉพาะที่ศีรษะกับหน้าอก ซึ่งถ้าเป็นการเกิดขึ้นจากการเล่นของเด็กจะเกิดบริเวณขาหรือแขนมากกว่า หรือมีแผลช้ำซึ่งบอกลักษณะของสิ่งที่ตีเช่นเข็มขัดหรือไม้แขวนเสื้อ กรณีที่ไม่เห็นแผลช้ำจากภายนอกการกรีดผิวหนังตามยาวที่ลำตัวหรือแขนขาจะพบเลือดออกในเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าว หรือริมฝีปากด้านในมีแผลจากการตีที่ใบหน้าหรือการบีบหรือกดที่ปาก แผลที่ทำให้ตายในเด็กพวกนี้มักเกิดที่ศีรษะ มีกะโหลกแตก เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกหรือชั้นใน บางครั้งอาจพบมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย เด็กมักมีสภาพขาดอาหารร่วมด้วย และมักพบว่าถูกปล่อยให้นอนเกลือกกับอุจจาระปัสสาวะของตัวเอง เด็กมักจะผอม ผิวแห้ง หรือมีแผลเปื่อยตามตัว แสดงถึง การละทิ้ง หรือละเลยในการดูแล ซึ่งเมื่อเด็กพวกนี้ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลเด็กจะน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว แสดงว่าการขาดอาหารไม่ได้เกิดจากโรค หรือความผิดปกติของทางเดินอาหารแต่กำเนิด
การตายจากการทำร้ายเพราะความโกรธ(angry homicide) การทำร้ายเด็กด้วยความโกรธมักเกิดจากพ่อเลี้ยงหรือที่พบน้อยกว่าคือแม่ เนื่องจากเด็กกวนหรือทำความรำคาญให้ การบาดเจ็บมักเกิดจากการที่เด็กถูกจับเหวี่ยงหรือจับขาขว้างไปกระทบผนังหรือพื้น หรือเตะ จากการตรวจศพจะพบสภาพเด็กโดยทั่วไปจะค่อนข้างปกติเช่น สมบูรณ์ น้ำหนักดี ไม่มีบาดแผลเรื้อรังแบบเด็กที่ถูกทำร้าย อาจพบการตายเกิดจากการบาดเจ็บที่ท้องเพราะถูกเตะ พ่อแม่ในรายพวกนี้มักแก้ตัวว่าเด็กพลัดตกลงขณะกำลังอุ้ม หรือตกจากเก้าอี้ฯลฯ บางครั้งจับเด็กแช่ลงในน้ำร้อนเพื่อ "สั่งสอน" และพ่อแม่มักแก้ตัวว่าอาบน้ำให้ลูกโดยไม่ทราบว่าน้ำร้อน แต่การพามาหาหมอมักจะพามาช้าและมือของคนที่อ้างว่าอาบน้ำให้ก็ไม่มีอาการถูกน้ำร้อนเลย ถ้าในเด็กโตหน่อยพ่อแม่จะให้ การว่าเด็กปีนลงไปในอ่างเอง ซึ่งกรณีนี้การดูจากแผลที่ถูกความร้อนลวกจะพบว่าบริเวณที่ลวกมันฟ้องอยู่ พ่อแม่ที่ทำร้ายอาจจะเกิดเพราะโกรธดังกล่าวหรืออาจจะเป็นพวกโรคจิตโรคประสาทก็ได้
การตายจากกลุ่มอาการ Munchausen’s syndrome by proxy เด็กที่ตายในกรณีนี้คือ การที่แม่อุดปากอุดจมูกเด็กพอเด็กเริ่มจะไม่หาย หรือหยุดหายใจก็หยุดการบีบ แล้วพยายามช่วยให้ฟื้นหรือพาไปหาแพทย์รักษา ซึ่งลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน จนวันหนึ่งเด็กถึงแก่ความตาย เด็กที่ตายพวกนี้มักมีสภาพร่างกายเจริญเติบโตปกติ ไม่มีบาดแผลเรื้อรังใด แต่จะมีประวัติ เข้าโรงพยาบาลมาหลายครั้งด้วยอาการ”อยู่ดีดีก็เขียว หรือหยุดหายใจ” พอเข้าโรงพยาบาลแล้วกลับไม่ปรากฏอาการใด จนกระทั่งออกจากโรงพยาบาล ไประยะหนึ่งก็เกิด "อาการ" ขึ้นอีก แพทย์เคยสงสัยและจับได้โดยการแอบถ่ายวิดีโอขณะที่แม่มาเยี่ยมอาการป่วย พบว่าแม่ได้อุดปากอุกจมูกเด็กจริงระหว่างที่นอนในโรงพยาบาล ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยสาเหตุ และช่วยชีวิตเด็กไว้ได้การตายด้วยวิธีอื่นๆ การแทง ยิง กดน้ำฯลฯ ล้วนแล้วแต่พบได้ทั้งสิ้น คนที่ทำอาจจะเป็นใครก็ได้ อาจจะเป็นอุบัติเหตุ หรือฆาตกรรมก็ได้ เช่นเดียวกับในผู้ใหญ่
การตายจากถูกโยกศีรษะ Shaken baby syndrome เป็นการโยกหัวเด็กโดยการจับตัวเด็กแล้วโยกทางหน้าหลังอย่าแรง หัวเด็กหงายไปมาอย่างแรง เกิดเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกและชั้นในได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณลำคอซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะของเด็กยังไม่แข็งแรงพอ ศีรษะเด็กจึงโยกหน้าหลังอย่างรุนแรงเพราะน้ำหนักของศีรษะมาก(เมื่อเทียบกับส่วนอื่น) สมองซึ่งเคลื่อนที่โดยแรงเฉื่อย จะดึงประสาทตาซึ่งจะดึงต่อไปถึงลูกตา แต่ลูกตาไม่สามารถเคลื่อนมาทางด้านหลังได้โดยอิสระเพราะติดกระดูกเบ้าตาทำให้ เยื่อหุ้มสมองชั้นในซึ่งหุ้มถึงไยประสาทตาด้วยเกิดฉีกขาดที่ส่วนนั้น และจะพบมีเลือดออกที่ใต้เยื่อหุ้มลูกตา ทางด้านหลังของลูกตาทั้งสองข้างอย่างขัดเจน ส่วนกลไกในการตาย เกิดจากไยประสาทสมองเกิดการฉีกขาดทำนองเดียวกับการเพิ่มหรือลดความเร็ว ลักษณะจำเพาะจากการผ่าศพจะเห็นมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มตาทั้งสองข้าง แต่การผ่าศพต้องตัดกระดูกเบ้าตาออกเพื่อนำลูกตาทั้งสองข้างออกมาตรวจด้วย พฤติการณ์ในการตายอาจจะเป็นอุบัติเหตุด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือ เป็นฆาตกรรมก็ได้
การสอบสวน การสอบสวนในกรณีที่มีเด็กเสียชีวิตจะทำได้สำเร็จต้องอาศัยการตั้งข้อสงสัยในทุกเรื่อง ต้องมีประวัติทางการแพทย์อย่างละเอียด ผลการตรวจร่างกาย การตรวจที่เกิดเหตุ(สิ่งที่พบในเตียงหรือเปลเด็ก) ประวัติที่พ่อแม่ให้เกี่ยวกับการเกิดความบาดเจ็บมักไม่เข้ากับลักษณะและความรุนแรงของบาดแผลที่พบเห็น การตรวจสถานที่เกิดเหตุจึงมีความสำคัญ ภาพถ่ายทาง X-rays กับผลการตรวจศพ นำมาประมวลเข้าด้วยกัน ประวัติทางการแพทย์มักพบว่า 40%ของเด็กที่ถูกทำร้ายจะถูกพามาหาแพทย์ในเช้าวันรุ่งขึ้นแทนที่จะพามาหาแพทย์ทันที อีก40%จะถูกพามาใน1-4วัน ผู้ทำร้ายส่วนใหญ่จะเป็น พ่อแม่ แฟนใหม่ พ่อเลี้ยง พี่เลี้ยงฯลฯ พ่อแม่ ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่ถูกทิ้งเช่นสามีทิ้งหรือภรรยาทิ้งไปมีคนรักใหม่ปล่อยให้อยู่กับลูก หรือเป็นคนที่มีอารมณ์รุนแรง หรืออยู่ในความกดดันทางด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ มีลูกมากเกินไป ฯลฯ พวกขี้เหล้า หรือใช้ยาเสพย์ติด ระดับการศึกษาของพ่อแม่ก็มีส่วนในการทำร้ายในรูปแบบต่างๆที่กล่าวมา เด็กเองก็อาจจะมีนิสัยงอแงเก่ง กวนเก่ง ซน หรือเด็กที่ค่อนข้างโง่เขลา การตรวจร่างกายอาจพบร่องรอยของการบาดเจ็บจากมือ หรือหมัด X-rays อาจพบมีการแตกหักของกระดูกส่วนต่างๆ อาจจะเก่าหรือใหม่ การตรวจด้วย X-rays computor อาจพบการบาดเจ็บหรือเลือดออกในสมอง ก่อนการตรวจศพหรือตรวจร่างกายเด็กถ้ามีโอกาศตรวจพ่อแม่ร่างกายก่อนจะมีส่วนช่วยในการวินิฉัย การตรวจศพจะต้องควรต้องบรรยายลักษณะการเจริญ เติบโต สภาพการขาดอาหาร ลักษณะของเสื้อผ้า(ความเก่าใหม่ ความสะอาดฯลฯ) บาดแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุในบ้านมักไม่เกิดมีลักษณะของของแข็งที่กระทบ และมักไม่เกิดสองข้างของศีรษะ หรือแขน จากนั้นจึงผ่าศพตรวจภายในโดยละเอียด รวมทั้งการตรวจภายในช่องปาก อวัยวะเพศ ทวารหนัก และอาจจะต้องตรวจเส้นประสาทตา ซึ่งอาจจะพบลักษณะต่างๆในการตายแบบต่างๆที่กล่าวมาแล้ว พ่อแม่ส่วนมากจะปฏิเสธในเบื้องต้น แต่เมื่อแพทย์พบว่ามีการบาดเจ็บและตำรวจดำเนินคดี ก็มักจะยอมรับในชั้นสอบสวนเนื่องจากไม่ใช่อาชญากรอาชีพ การตรวจที่เกิดเหตุจะต้องดูว่าสภาพของบ้านเป็นอย่างไร สกปรก รก คราบขยะ ฯลฯ เพื่อบอกความเอาใจใส่ในบ้านของพ่อแม่ มีอาวุธที่อาจใช้หรือไม่ คราบที่ เกิดจากการทำร้ายเช่นคราบเลือด คราบอสุจิ คราบอาเจียน เหตุเกิดที่จุดใด และถูกเคลื่อนย้ายไปที่ใด มีการเคลื่อนย้ายสิ่งของหรือวัตถุใดใดบ้าง มีลายพิมพ์นิ้วมือ ที่ใด หาประจักษ์พยานได้หรือไม่ บันทึกทุกอย่างที่ตรวจและสอบถามได้ และเรียบเรียงเรื่องราวที่เกิดขึ้น บรรณานุกรม1. DIMAIOS, Dominick J. and Vincent J.M. FORENSIC PATHOLOGY NewYork,Elsevier 19892. KNIGHT, Bernard. SIMPSON’S FORENSIC MEDICINE. Eleventh edition, NewYork, Arnold Pub.,19973. KNIGHT, Bernard. FORENSIC PATHOLOGY, Second edition,NewYork, Arnold Pub.19964. SPITZ, Wernerd. SPITZ AND FISHER’S MEDICOLEGAL INVESTIGATION OF DEATH, Thir